วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2552

ความทรงจำผ่านตาที่ 3

ย้อนกลับไปก่อน "เส้น ก้อน แผ่น"อีก
ตอนเปิดเทอมขี้นปี 2 กันมาหมาดๆ
ทีมอาจารย์ตกลงกันว่าเราจะมีเวิร์คชอพเล็กๆ ที่ใช้เวลาครั้งละ 1 สัปดาห์
เป็นการเริ่มต้นสำหรับการเรียน Studio ชั้นปีที่ 2
เป็นการอุ่นเครื่อง เพื่อให้นักศึกษาได้ปรับตัวกับห้องเรียนใหม่ และเป็นการทำความรู้จักกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอนด้วย
โดยที่หัวข้อของเวิร์คชอพต้องสัมพันธ์กับ theme "ความทรงจำ"
คำถามแรกสำหรับการคิดโจทย์คือ ความทรงจำของสถาปนิกต่างจากความทรงจำของคนที่ไม่ได้เป็นสถาปนิกหรือไม่อย่างไร
แล้วก็ได้คำตอบว่า เนื่องจากงานของสถาปนิกเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมทางกายภาพที่มีความซับซ้อน

ดังนั้นนักเรียนสถาปัตย์จึงน่าจะฝึกฝนตนเองให้"มอง"สภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวให้"เห็น"ในหลายๆ มิติ
และฝึกประสาทสัมผัสให้สามารถรับรู้และเชื่อมโยงประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส ให้เกิดเป็นความทรงจำพิเศษที่มีต่อสถานที่ต่างๆ ได้

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง
เชียงใหม่ยังเต็มไปด้วยสถานที่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ก็เลยคิดว่า เราน่าจะไปสำรวจเมืองด้วยประสาทสัมผัสของเรา
เผื่อว่าจะได้"เห็น"เชียงใหม่อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

มีคนถามหลายคน ว่าทำไมต้องเป็น "The Third eye workshop"
คำตอบคือตอนที่ตั้งชื่อ
คนตั้งคิดถึงการ์ตูน "3 ตาปาฏิหาริย์" ของ อ.เทซึกะ โอซามุ นัดวาดมังงะที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งของญึ่ปุ่น
"3 ตาปาฏิหาริย์"เล่าเรื่องของ ซาราคุ เคียวสุเกะเด็กน้อยจากชนเผ่า 3 ตาที่ถูกเลี้ยงดูมาโดยมนุษย์ เคียวสุเกะปกปิดอำนาจของตัวเองเอาไว้ด้วยพลาสเตอร์กากบาท เมื่อใดที่พลาสเตอร์นี้หลุดออก พลังและความวุ่นวายปั่นป่วนจากอำนาจของตาที่3ก็จะตามมา

ก็เลยคิดว่าถ้าเปรียบนักเรียนสถาปัตย์เป็นชนเผ่า 3 ตาที่ยังมีพลาสเตอร์กากบาทแปะหน้าผากอยู่
ใครจะไปรู้ว่า วันหนึ่งข้างหน้า เมื่อพลาสเตอร์หลุดออก เราจะได้เห็นอะไร....

เขียนมาตั้งยาว ที่จริงก็เป็นความพยายามตั้งชื่อเพื่อสร้างความแตกต่างน่ะค่ะ (แต่ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่)
แต่ สำหรับคนที่ได้มาทำเวิร์คชอบในครั้งนั้นด้วยกัน
มาถึงตอนนี้ ถ้าคลิกเข้าไปดูรูป ก็คงได้ย้อนระลึกความทรงจำสมัยขึ้นปี 2 ใหม่ๆ
และได้เห็นว่าเราและความคิดของเรา เปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนในรอบ 1 ปี(หรือใครว่าไม่เปลี่ยน)
ส่วนใครที่ไม่ได้ทำเวิร์คชอบครั้งนั้น จะแวะเข้าไปดูรูปเพื่อนๆ ก็ยินดีค่ะ

ความทรงจำที่วัดเกต

ความทรงจำที่กาดหลวง

ความทรงจำที่วัดพันเตาและวันเจดีย์หลวง

วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เส้น ก้อน แผ่น



ช่วงนี้กำลังจัดการไฟล์ภาพต่างๆ ที่ถ่ายเก็บไว้ทั้งปี
ก็เลยมีภาพเก่าๆ มาแบ่งกันดูนิดหน่อย
ขอย้อนกลับไปตอนต้นภาคการศึกษาที่ 2/2551
Studio 2 มักจะเริ่มต้นภาคการศึกษาด้วยงานชิ้นเล็กๆ เพื่ออุ่นเครื่องทั้งอาจารย์และนักศึกษา
เราเริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปมององค์ประกอบพื้นฐานของสถาปัตยกรรม
ได้แก่ เส้น(line) ก้อน(pieces) แผ่น(plane)
และศึกษาว่าองค์ประกอบพื้นฐานเหล่านี้ สามารถก่อให้เกิด Architectonic Space ได้อย่างไร
เหมือนจะ"หมู"แต่ทุกคนที่ได้ลองทำดู ก็จะทราบว่า
โจทย์ทุกโจทย์มีความ "ง่าย" เท่าๆ กับความ "ยาก"
อยู่ที่มุมมองและความตั้งใจในการค้นหาคำตอบ

สำหรับงาน"เส้น" ไม่ได้ถ่ายเก็บไว้
เลยมีรูปให้ดูอยู่แค่ 2 ชิ้น
ได้แก่ ก้อน และ แผ่น

วันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2552

มิดเทอมโปรเจคท์ในวันที่ใบไม้เริ่มเปลี่ยนสี



เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว อีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะสิ้นปีการศึกษาแล้ว
ก่อนที่จะสิ้นเทอม
ขอเอารูปบรรยากาศ Mid-term project jury ที่ผ่านไปมาแปะให้ดูค่ะ

โจทย์ของงานกลางภาคชิ้นนี้คือให้สร้าง Architectural Composition เพื่อรองรับกิจกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการศึกษาที่ต่อเนื่องมาจาก Final โปรเจคท์ของเทอมที่แล้ว(สถาปัตยกรรมที่รองรับกิจกรรมของมนุษย์) และ warm up assignment ของเทอมนี้ที่ให้ศึกษาและทดลองการประกอบกันขององค์ประกอบพื้นฐานทางสถาปัตยกรรมที่กำหนดให้ ได้แก่ เส้น แผ่น ก้อน

ผลงานขั้นสุดท้าย แสดงให้เห็นถึงการพยายามทำความเข้าใจและการตีความความหมายของ"กิจกรรมทางวัฒนธรรม" ที่หลากหลาย ตั้งแต่ พื้นที่คิวรถสามล้อถีบ พื้นที่สำหรับกิจกรรมตักบาตรคืนเพ็ญพุธ จนถึงพื้นที่สำหรับพิธีกรรมเช่นพิธีสืบชะตา พิธีรดน้ำดำหัวในเทศกาลสงกรานต์ หลายๆ งานน่าตื่นเต้นทีเดียว หลายงานบอกว่าโปรดติดตามตอนต่อไป และอีกบางงานที่ขอเอาใจช่วยต่อไป